จากบทความตอนก่อน ผมสรุปใจความสำคัญหลักๆ ของการทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดียที่มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่การใช้เป็นสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ไปจนถึงการสร้างความผูกพัน (Engagement) ระหว่างผู้บริโภคกับแบรนด์ ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจความจริงใจและความใส่ใจในผู้บริโภค เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี จนสามารถผูกมัดใจผู้บริโภคให้เป็นลูกค้าของเราไปนานๆ
ผมทิ้งท้ายไว้ว่า โซเชียลมีเดียนอกจากจะใช้เป็นเครื่องมือทำการตลาดแล้ว ยังใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนองค์กรด้านอื่นๆ ได้อีกมากมาย เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ผมขอยกตัวอย่างที่น่าสนใจของการใช้โซเชียลมีเดียขับเคลื่อนธุรกิจครับ
Booz Allen Hamilton บริษัทที่ปรึกษาชื่อดังของโลก ได้นำโซเชียลมีเดียมาใช้เป็นเครื่องมือสื่อสาร แชร์ข้อมูล ไอเดียต่างๆ ของพนักงานภายในองค์กรตามสาขาต่างๆ ที่มีกว่า 23,500 คนทั่วโลก ผ่านเว็บพอร์ทัลที่ใช้งานในชื่อว่า “Hello.bah.com” ซึ่งเปิดพื้นที่ให้พนักงานเขียนบล็อก ใช้งานระบบ Wiki เพื่อแชร์ข้อมูล เอกสารต่างๆ และยังมีระบบช่วยให้พนักงานต่างสาขาสามารถติดต่อค้นหาผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ทั่วโลก เพื่อทำงานร่วมกันหาโซลูชั่นเพื่อแก้ปัญหาให้ลูกค้า และใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้า พาร์ทเนอร์ ได้อีกด้วย
บริษัท General Electric หรือ GE ก็เป็นอีกบริษัทยักษ์ใหญ่อีกแห่งที่นำเครื่องมือโซเชียลมีเดียมาสร้างเป็น ระบบที่ใช้งานในชื่อ “MarkNet” ที่ช่วยเชื่อมโยงนักการตลาดกว่า 5,000 คนของ GE ทั่วโลกเข้าหากัน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างและหล่อหลอมพนักงานเหล่านี้ให้กลายเป็น “The Best Marketers” ผ่านกระบวนการของการแชร์องค์ความรู้ การเบรนสตอร์มหาไอเดียใหม่ๆ การร่วมกันแก้ไขปัญหาด้านการตลาดขององค์กรทุกสาขาทั่วโลก และเรียนรู้เทคนิคการตลาดใหม่ๆ ร่วมกัน
ทั้งสองบริษัทได้นำโซเชียลมีเดียมาเป็นเครื่องมือสร้าง “Collaborative Platform” โดยมีรากฐานมาจากแนวคิดของ “Crowd-sourcing” ที่ดึงองค์ความรู้ของพนักงานแต่ละคนออกมาเพื่อต่อยอดความรู้ระหว่างกัน และใช้แนวคิด “Co-creation” ร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมกันตีโจทย์เพื่อแก้ปัญหาของลูกค้า ร่วมกันระหว่างลูกค้า พาร์ทเนอร์และผู้เชี่ยวชาญได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากในมุมของการดึงศักยภาพของทรัพยากรบุคคลมาใช้ให้เต็มประสิทธิภาพแล้ว โซเชียลมีเดียยังมีบทบาทสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ได้อย่างสำคัญ ดังเช่นตัวอย่างของ Threadless.com เว็บผลิตและออกแบบเสื้อยืดออนไลน์ ก็นำเสนอไอเดียง่ายๆ ให้สมาชิกของเว็บออกแบบลายเสื้อยืดที่ตัวเองชื่นชอบ จากนั้นก็ระดมเสียงสนับสนุนจากคอมมูนิตี้สมาชิกด้วยกันผ่านทั้งเฟซบุ๊คที่มี แฟนกว่า 273,000 คนและทวิตเตอร์ที่มี Followers มากกว่า 1.6 ล้านคน เพื่อลงคะแนนโหวตว่าลายไหนคนชอบมากที่สุดในแต่ละสัปดาห์ โดย 10 ลายที่ได้รับคะแนนโหวตสูงสุดจะกลายเป็นเสื้อยืดที่ทำออกมาขายจริง มียอดสั่งทำจากผู้สนใจโดยบริษัทไม่ต้องกังวลว่าทำเสื้อออกมาแล้วจะขายหมด หรือไม่
ดีไซเนอร์ที่ออกแบบทั้งลายเสื้อทั้ง 10 ลายนี้ จะได้รับเงินสดเป็นรางวัลไปคนละ 2,000 ดอลลาร์ และถ้าเสื้อลายนี้ยังได้รับความนิยมจนมีสมาชิกเรียกร้องให้ทำออกมาขายเพิ่ม ดีไซเนอร์ก็จะได้รับรางวัลเพิ่มอีก 500 ดอลลาร์ต่อการผลิตแต่ละล็อตเป็นเหมือนค่าไอเดียจ้างออกแบบ ซึ่งตัวดีไซเนอร์เองก็คงมีความสุขไม่น้อยที่มีผู้คนมากมายชื่นชอบและสวมใส่ งานที่เขาเป็นคนออกแบบ Threadless.com เริ่มต้นจากผู้ก่อตั้ง 2 คนที่ชนะการออกแบบลายเสื้อยืดทางอินเทอร์เน็ต ด้วยทุนเริ่มต้นเพียง 1,000 ดอลลาร์ แต่ละสัปดาห์จะมีเหล่าดีไซเนอร์ที่เป็นสมาชิกเว็บส่งแบบเสื้อเข้ามาให้โหวต กว่า 2,000 แบบ ปัจจุบัน Threadless.com มีสมาชิกอยู่กว่า 1.2 ล้านคน และยังมีลูกค้าขาจรอีกกว่า 3 ล้านคน ทำกำไรให้ Threadless.com ปีละกว่า 30 ล้านดอลลาร์ และกำลังขยายขอบเขตของผลิตภัณฑ์ไปยังเคสใส่ไอโฟน เสื้อแจ๊คเก็ต และอื่นๆ
แนวคิดของ Threadless.com ตั้งอยู่บนหลักการที่ง่าย ไม่ซับซ้อน เป็นการดึงคอมมูนิตี้มา “ร่วมคิด ร่วมสร้าง” ผลิตภัณฑ์ โดยที่บริษัทไม่จำเป็นต้องจ้างดีไซเนอร์มาช่วยออกแบบเสื้อยืด ไม่ต้องมีหน้าร้านตามห้าง ไม่มีปัญหาด้านสต็อกค้าง เพราะไม่ต้องคาดเดาว่าจะต้องทำเสื้อออกมากี่ตัว และไม่ต้องลงทุนสื่อสารการตลาดเอง เพราะมีแรงผลักดันจากสมาชิกที่ช่วยกันแชร์แบบเสื้อลงในโซเชียลมีเดียของตัว เอง น่าสนใจมั้ยล่ะครับ
บทความโดย : คุณวรวิสุทธิ์ ภิญโญยาง