"ปลาเน่าต้นทุนต่ำ"...สำนวนนี้เราได้ยินติดหูกันมาช้านาน แต่จะเป็นจริงหรือไม่...ในชีวิตการทำงานในปัจจุบัน ดร. สตีเฟ่น ร็อบบิ้นส์ ผู้เขียนหนังสือ เคล็ด (ไม่) ลับ กับการบริหาร ฅ. คน ยืนยันว่าจริงครับ!
ในเคล็ด (ไม่) ลับ ข้อที่ 35 จากทั้งหมด 53 ข้อ อ้างถึงผลการศึกษาวิจัยที่ยืนยันว่า หากสมาชิกคนหนึ่งคนใดในทีมจงใจทำงานน้อยกว่าปกติ ชอบพร่ำบ่นโวยวาย ออกอาการ ‘องุ่นเปรี้ยว’ คือ ขาดความสุขในการทำงานและเกะกะระรานผู้อื่นไปทั่ว จะทำให้เกิดการบั่นทอนศักยภาพ ตลอดจนขวัญกำลังใจของทีมงานอย่างไม่ต้องสงสัย เรียกว่า เป็นมะเร็งร้ายที่น่ากลัว และสามารถลุกลามไปยังส่วนต่างๆ ขององค์กรอย่างไม่หยุดยั้ง
โดยทั่วไป มนุษย์เจ้าปัญหามักจะเป็นคนส่วนน้อยในองค์กร แต่มักจะเรียกร้องความสนใจมากเป็นพิเศษ ส่งผลให้เกิดสภาพความขัดแย้งในทีม สูญเสียการสื่อสารที่ดีมีไมตรีจิตและมิตรภาพ จนเกิดความรู้สึกที่ย่ำแย่ยุ่งเหยิงไปตามๆ กัน โดยเฉพาะหากเป็นทีมงานที่มีขนาดเล็ก ก็จะยิ่งส่งผลรุนแรงมากขึ้น
การรับมือกับปลาเน่า คือ หัวหน้างานควรป้องกันไม่ให้ปลาเน่าทำสมาชิกคนอื่นแปดเปื้อนเสียหาย เนื่องจากเรื่องราวแย่ๆ มักจะแพร่กระจายได้รวดเร็วมากว่าเรื่องดีๆ หลายร้อยหลายพันเท่า เพราะ ‘เม้าท์’ ได้มันส์และมีรสชาติกว่ากันเยอะ
หัวหน้างานจึงต้องระบุปัญหาที่เกิดขึ้นให้ชัดเจน ตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม รวมถึงมีมาตรการเชิงรุกมาดำเนินการอย่างเฉียบขาด หากพบสมาชิกคนใดปล่อยพลังงานด้านลบออกมา
หากพบว่าพนักงานใหม่เป็นปลาเน่า องค์กรควรจัดการกับคนเหล่านี้เสียตั้งแต่ในช่วงทดลองงาน อย่าให้ผ่านพ้นไป แต่สิ่งท้าทายยิ่งกว่า คือ การรับมือกับพวก ‘ปลาดี’ ที่กำลังส่งกลิ่นโฉ่เนื่องจากเริ่มติดโรคปลาเน่า กลับเป็นปัญหาหนักอกกว่า วิธีการรับมือ คือ รีบประเมินว่าปลาเน่าเหล่านี้อยู่ในวิสัยที่จะกลับมาอยู่กับร่องกับรอย ประพฤติตัวเป็นคนดี ขยันขันแข็งในการทำงานได้หรือไม่ และมีสิ่งใดเป็นเหตุจูงใจให้เปลี่ยนไป จึงเป็นหน้าที่สำคัญของผู้นำในการกำจัดพนักงานที่มีทัศนคติในการทำงานย่ำแย่ นิสัยไม่ดี ชอบสร้างความแตกแยก และไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างทันท่วงที เพราะคนเหล่านี้จะอยู่เบื้องหลังเหตุร้ายต่างๆ และล่อลวงผู้บริหารด้วยการซักทอดความผิดแก่ผู้อื่นอย่างแนบเนียน รวมถึงความสามารถในการพิสูจน์ข้อดีจุดเด่นของตนเองให้คนทั่วไปหลงเชื่อได้
โชคร้ายที่หลายองค์กรทำได้แค่การย้ายปลาเน่าไปอยู่แผนกอื่น โดยเฉพาะผู้บริหารอาวุโส องค์กรแทบไม่แตะต้องให้กระทบกระเทือน เป็นวัฒนธรรมการส่งปลาเน่าไปอยู่ข้องอื่น ซึ่งถือเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรง เพราะปลาเน่าจะพยายามทำให้ปลาทุกตัวในข้องสกปรกตามไปด้วย ถือเป็นปลาที่มีต้นทุนต่ำ พร้อมทำทุกอย่างแม้กระทั่งเอาตัวเองเข้าแลก เพื่อบั่นทอนขวัญกำลังใจ และดิสเครดิตให้ผู้อื่นมัวหมองไปด้วย
ผมประหลาดใจในข้อสรุปของสตีเฟ่น ร็อบบิ้นส์ที่บอกว่า การวางเฉยและหวังว่าปลาเน่าจะกลับตัวกลับใจนั้นเป็นเรื่องที่สำเร็จได้ยากในความเป็นจริง
มีวิธีเดียวเท่านั้น คือ ต้องกำจัดให้สิ้นซาก เพราะต้นทุนของการปล่อยปลาเน่าทิ้งไว้ช่างสูงเหลือเกิน!
บทความโดย : คุณวิโรจน์ เย็นสวัสดิ์ | Facebook
ที่มา : คุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย