เรามีหัวหน้าทีมขาย 2 ทีม ทีมแรกมีหัวหน้าชื่อ เปิ้ล อีกทีมมีหัวหน้าชื่อ ปาน ในสภาวะเศรษฐกิจปกติยอดขายของสองทีมไม่แตกต่างกันมากนัก แต่พอมีปัญหาเศรษฐกิจที่มีความจำเป็นที่ต้องลดจำนวนพนักงานลง 1 ปีผ่านไปเริ่มเห็นความแตกต่าง ทีมงานของคุณเปิ้ลสามารถรักษายอดการขายไว้ได้ ขณะที่ทีมขายของคุณปานยอดขายตกฮวบ
ความแตกต่างของสองคนเกิดขึ้นเนื่องจากการลดจำนวนบุคลากร คุณเปิ้ล บอกลูกน้องไปตรงๆ ว่า ภาระของแต่ละคนจะเพิ่มขึ้น บางครั้งเขากระตุ้นพนักงานขายด้วยความรุนแรง โดยเตรียมใจแล้วว่าอาจเกิดการกระทบกระทั่งกันบ้าง เพราะคุณเปิ้ล ตั้งเป้ายอดขายไว้สูงจึงมีปากเสียงกับลูกน้องประจำ แต่ละครั้งต้องคอยพูดโน้มน้าวลูกน้องอยู่เป็นชั่วโมง
ส่วนคุณปาน กลัวถูกลูกน้องเกลียด เพราะคิดแต่ว่า “ถ้าเข้มงวดมากเกินไป ลูกน้องจะพากันไม่ชอบหน้า ต้องไม่โดดเดี่ยวตัวเอง แม้ลูกน้องจะทำงานชุ่ยบ้าง ผิดพลาดบ้าง ก็เงียบไว้ดีกว่า เพื่อให้ได้รับความร่วมมือกับทุกคน ” จากนั้นก็แสดงท่าทางใจกว้างแม้กับพนักงานที่ไม่ตั้งใจทำงานก็ตาม ลูกน้องจึงไม่เกลียดเขา แต่คุณภาพนับวันจะแย่ลง ยอดขายก็ค่อยๆ ตกตามไปด้วย
ทั้งๆ ที่คุณปานให้ความสำคัญกับการเป็นที่ชื่นชอบมากกว่า แต่ทำไมจึงควบคุมลูกน้องไม่อยู่ นั้นเป็นเพราะคุณปานมี “ความเมตตา” แต่ขาด “ความถูกต้อง” พนักงานทุกคนรู้ดีว่า การทำงานแบบที่ผ่านมาส่งผลให้ยอดขายตก แต่กระนั้นคุณปาน กลับเพิกเฉยเรื่องการทำงานแบบลวกๆ ชุ่ยๆ และมีความผิดพลาด อีกทั้งยังปล่อยปะละเลยลูกน้องที่เป็นตัวถ่วง
ดังนั้นแน่นอนว่าพนักงานคนอื่นๆ รวมทั้งพนักงานที่โดดงานจึงพากันคิดว่า “คนๆ นี้ทำเรื่องไม่ถูกต้องได้อย่างหน้าตาเฉย คำพูดและการกระทำของเขาเชื่อถือไม่ได้หรอก” ต่อให้เป็นคนที่เราชื่นชอบแค่ไหน แต่ถ้าเบื้องลึกปราศจากความเชื่อถือก็ไม่มีใครเข้าใกล้ พนักงานที่ดีๆ ก็จะหายจากไปเพราะไม่สามารถฝากอนาคตไว้กับหน่วยงานนี้ได้
คุณปาน สนใจแต่การเป็นที่ชื่นชอบจนไม่รู้ว่าตนเองสูญเสียความเชื่อถือไปแล้ว ในทางกลับกัน คุณเปิ้ล พูดเรื่องที่ถูกต้องมาตลอดถึงแม้ต้องเสี่ยงกับการถูกลูกน้องเกลียด ผลที่ได้คือการกระทบกระทั่งกับลูกน้องเป็นประจำ แต่ลูกน้องกลับคิดว่า “บางครั้งฉันก็โมโหเขาเหมือนกัน แต่เขาไม่เคยพูดมั่วซั่ว ในเมื่อเขาบอกพวกเรามีความสำคัญ ก็คงจะเป็นแบบนั้นจริงๆ ” คุณเปิ้ลจึงได้รับความเชื่อถือซึ่งส่งผลให้เกิดความร่วมมือต่อกันมากขึ้น โดยมองข้ามความขัดแย้งทางด้านอารมณ์ เวลาจูงใจคน “ความชื่นชอบ” เป็นเงื่อนไขที่สำคัญ แต่ “ความเชื่อถือ” เป็นเงื่อนไขที่สำคัญกว่า
แน่นอนว่า ถ้าเราได้รับทั้งความชื่นชอบและความเชื่อถือนั้นดีที่สุด แต่ในกรณีที่เลือกไม่ได้ ควรให้ความสำคัญกับความเชื่อถือมากกว่า และเตรียมใจที่จะโดนเกลียดไว้ด้วย เพราะหากไม่เกิดความเชื่อถือ ก็จะไม่เกิดความร่วมมือ การกู้ความน่าเชื่อถือกลับมาเป็นเรื่องยาก ต่อให้พยายามทำงานอย่างซื่อตรงแล้ว ก็ยังต้องใช้เวลานานกว่าที่อีกฝ่ายจะยอมรับ หรือบางกรณีอาจไม่เป็นผลด้วยซ้ำ การโกหกหรือการหักหลัง เพียงครั้งเดียวอาจส่งผลกระทบไปตลอดชีวิต
ส่วนการไม่เป็นการชื่นชอบนั้นแก้ได้ไม่ยากด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น ผลัดกันรินเบียร์ให้คนที่เราทะเลาะด้วย เดี๋ยวก็ปรับความเข้าใจกันได้ หรือเราอาจจะชมเขาบ่อยๆ สักวันเขาก็หันมาชอบเราได้ อย่ากลัวคนอื่นเกลียดจนเกินไป สิ่งที่ควรกลัวมากกว่านั้นคือการสูญเสียความเชื่อถือ เมื่อต้องการจูงใจคน ขอให้จำเรื่องนี้จนขึ้นใจด้วยนะครับ
Credit : คุณวิโรจน์ เย็นสวัสดิ์ | Facebook