สร้างคนก่อนสร้างชาติ

สร้างคนก่อนสร้างชาติ

 

       พื้นฐานของสังคมที่แข็งแกร่ง มีบทสรุปเกิดจากการสร้างคนก่อนสร้างชาติ ปลูกฝังผู้คนให้คิดถึงส่วนรวม คิดถึงผู้อื่น ก่อให้เกิดความไว้วางใจ

 

 

 

 

 

 

       ที่สนามบินนาริตะ เที่ยวบินกลับเมืองไทย เจ้าลูกชายตัวป่วนของผมเก็บบัตรเติมเงินของร้านกาแฟสีเขียวที่มีคนทำหล่นไว้ พลิกดูด้านหลัง เป็นบัตรจากเมืองไทยแบบที่ไม่ระบุชื่อผู้ถือ ลูกชายดีใจ ด้วยคิดว่า กลับถึงเมืองไทยจะไปสั่งกาแฟฟรีได้หลายแก้ว ผมแนะให้ลองถามคนที่เดินผ่านแถวๆนั้นดู ลูกชายถามกลับว่า แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่า ใครเป็นเจ้าของตัวจริง


       ช่วงหยุดยาว 5 วันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ผมตั้งใจจะหลุดจากโลกที่ทำงานมาตลอดทั้งปีเพื่อไปพักผ่อน ทำอะไรๆที่ไม่ต้องมีสาระมากมายบ้าง แต่ถึงที่สุด ผมก็หนีไม่พ้นต้องเก็บสาระดีๆ จากการเดินทางในครั้งนี้ และสรุปได้เป็นประโยคที่ต้องขีดเส้นใต้ไว้ว่า พื้นฐานของสังคมที่แข็งแกร่งเกิดจากการสร้างคนก่อนสร้างชาติ เริ่มต้นจากการปลูกฝังผู้คนให้คิดถึงส่วนรวม คิดถึงผู้อื่น ก่อให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ที่สุดเกิดเป็นนวัตกรรมทั้งสินค้าและสิ่งต่างๆ รอบด้าน


       “ถึงแม้ว่า ไฟแดงรูปคนหยุดรอรถยังแดงอยู่ ถ้าเป็นที่เมืองไทย เราคงข้ามไปแล้ว ลูกว่าไหม ไม่เห็นจะเป็นอะไร ... ข้ามกันเลยไหม ด้านซ้ายบนถนนที่ห่างออกไปเกือบห้าร้อยเมตร รถก็หยุดที่ไฟแดงทางโน้นนี่นา” พ่อพูดพร้อมก้าวขาข้างหนึ่งไปข้างหน้าแต่ถูกลูกดึงกลับ “อายเขาครับพ่อ ดูคนญี่ปุ่นที่อยู่ข้างๆ เราสิ เกือบสามสิบคน ไม่เห็นมีใครข้าม”บนถนนเส้นเล็กๆ รอบทะเลสาบคาวากูชิอันเงียบสงบ พ่อลูกวิ่งออกกำลังกายกัน เห็นรถสามคันจอดรอไฟแดงอยู่ “ถ้าเป็นที่เมืองไทยตอนดึกๆ ไม่มีคน เราคงไม่จอดรอนะ พ่อว่าไหม หรือถ้าจอดรอ เราคงโดนคันหลังบีบแตรไล่” เกือบสามนาทีกว่าจะไฟเขียว รถทั้งสามคันจึงออกตัวไป พ่อลูกมองหน้ากัน ทึ่งในความซื่อสัตย์ต่อตนเองและการเคารพในกฏกติกาอย่างเข้มงวด “ต่อให้ไม่มีคนเห็นพวกเขาก็ไม่ทำผิด เหมือนกับพนักงานหน้าลิฟต์ที่โรงแรม ที่ลูกแอบไปยืนฟังว่า เขายังจะพูดเชิญชวนให้แขกใช้บริการนวดแผนโบราณหรือไม่ ถ้าไม่มีแขกเดินเข้ามา แต่เขาก็พูดตลอดด้วยความเคารพในหน้าที่” “นั่นสิ ที่ผมอยากทดสอบก็เพราะเรากลับเข้าออกหลายรอบ เขาก็ยังพูดเชิญชวนอยู่” พ่อลูกออกวิ่งกันต่อ “พ่อรู้สึกไหม เราวิ่งได้สบายๆ ถนนถูกออกแบบเป็นทางราบตลอด ถึงทางที่เป็นขอบริมฟุตบาธของทางเข้าออกซอย ก็ออกแบบให้มีเนินมารองรับ สบายทั้งคนวิ่งและจักรยาน ถ้าเป็นที่เมืองไทย เราต้องก้าวขาลงขึ้นแบบทุลักทุเลและอาจเกิดวิ่งสะดุดหกล้มได้ง่าย จักรยานก็ต้องหยุดและยกเดินไปก่อน ส่วนใหญ่ก็เลี่ยงมาถีบกันบนถนน” “ใช่ลูก ที่นี่เขาคิดถึงทุกคน คิดถึงคนพิการที่ต้องใช้รถเข็น แม้แต่ในอุโมงค์ข้ามถนนไปอีกฝั่ง ก็ยังออกแบบทางราบข้างบันไดขึ้นลงสำหรับจักรยาน บนถนนก็มีปุ่มเป็นแถบสีเหลืองสำหรับคนตาบอดอีกด้วย ลูกเห็นไหม” “ใช่ครับ แถมยังต่อเนื่องตลอด ไม่ขาดตอนเลยครับ”


       ที่ถนนห้าแยกย่านชิบูญ่า ที่มีคนข้ามถนนมากมาย บางคนใส่ผ้าปิดจมูกปิดปาก “พ่อๆ รู้ไหม คุณครูเคยเล่าให้ฟังว่า คนญี่ปุ่นมีสามัญสำนึกของการอยู่ร่วมกันสูงมาก ใครเป็นหวัดจะเป็นห่วงว่าตัวเองจะแพร่เชื้อให้คนอื่น กลัวคนอื่นจะเป็นหวัดไปด้วย” จริงอย่างที่ว่า ตลอดห้าวันจะเห็นมีคนใส่หน้ากากอนามัยกันตามท้องถนนทั่วไป “จริงๆนะลูก ไม่ว่าจะทำอะไร พวกเขาจะคิดถึงคนอื่นก่อนเสมอ เมื่อคืนพ่อเข้าไปใช้ห้องออกกำลังกายของโรงแรม พ่อเห็นเครื่องออกกำลังกายทุกเครื่องจะมีผ้าผืนเล็กๆแขวนอยู่ข้างๆ ทุกคนจะหยิบมาเช็ดตามที่นั่ง ที่มือจับ ไม่ให้ติดคราบเหงื่อหลังจากที่ใช้เสร็จ พ่อเลยต้องทำตามแบบไม่ค่อยชิน ที่เมืองไทย เหงื่อหยดก็หยดไป ไม่มีใครเคยคิดถึงเรื่องนี้เลย แต่เคยเห็นคนญี่ปุ่นที่อยู่เมืองไทย ถือผ้าผืนเล็กๆติดมาเอง และจะเช็ดก่อนและหลังใช้ทุกครั้ง เวลานั้นพ่อคิดแค่ว่า เขาอนามัยเกินไป แท้จริงการเช็ดทีหลังคือการคิดถึงคนอื่น” “ใช่พ่อ ที่ห้องน้ำในส่วนสระว่ายน้ำ ผมเห็นคนญี่ปุ่นที่เข้าห้องน้ำ ต้องใส่รองเท้าผ้าที่เตรียมไว้ให้ พอใช้เสร็จ พวกเขาจะวางรองเท้าหันให้คนที่มาทีหลังสวมเข้าได้หลังจากเปิดประตูเข้ามาทันที” “ถ้าเมืองไทยมีบ้าง คนที่ใส่เสร็จก็คงจะถอดรองเท้าคืนไว้โดยไม่หันด้านสวมให้กับคนที่มาทีหลังใช่หรือเปล่า” “คนบ้านเรา รวมทั้งตัวผมคงคิดไม่ได้ขนาดนั้น”


       “เห็นไหมลูก พ่อว่านะ การคิดถึงคนอื่นก่อน ทำให้เกิดการเคารพให้กฏระเบียบจนเป็นความเคยชิน ซื่อสัตย์ในหน้าที่จนทำให้เกิดความไว้วางใจ มาตรฐานของสินค้าและบริการตลอดจนคุณภาพและไอเดียใหม่ๆ จึงเกิดขึ้นมากมาย” “ถูกเลยพ่อ เมื่อวานตอนผมหิ้วถุงสามใบ แต่ละใบก็มีโลโก้ที่หน้าถุง พอมาอีกร้าน พนักงานจัดถุงใบใหญ่มาใส่ถุงใบอื่นๆเข้าไว้ด้วยกัน ให้ผมได้หิ้วสบายๆ ทีแรกผมคิดว่าเขาฉลาด ต้องการให้เราช่วยโชว์แค่โลโก้ของเขา ที่จริงเขาตั้งใจจะช่วยให้เราสะดวกมากกว่า มาที่ร้านขายเสื้อผ้า มีพนักงานแค่สองคน แคชเชียร์ก็อยู่ด้านในสุดของร้าน ถุงเท้า ถุงมือ ที่แขวนขายนอกร้านก็ไม่กังวลว่าจะถูกขโมย ที่ร้านไอศกรีมก็ให้ลูกค้าหยิบถ้วยกดกันเองแล้วมาชั่งน้ำหนักกับจ่ายเงินที่หลังร้าน” “เมื่อเช้าเห็นไหม ตึกโยกซ้ายขวาเกือบหนึ่งนาที คนที่นี่ก็นิ่งกันทุกคน พ่อว่าไม่ใช่เพราะพวกเขาชินกับเหตุการณ์นะ แต่เป็นเพราะความไว้วางใจในนวัตกรรมในการออกแบบตึกให้มีสปริงของพวกเขากันเอง” “ลูกเห็นชักโครกของเขาไหม น้ำที่สำรองไว้ด้านหลังมีก๊อกน้ำโผล่ขึ้นมาให้น้ำไหลไว้ล้างมือไปด้วย น้ำที่ล้างมือก็จะถูกเก็บไว้ให้คนต่อไปมากดน้ำใช้แบบชักโครกทั่วไป ไอเดียดีจริงๆ”


       ขากลับบนเครื่องบิน พ่อลูกได้คุยสรุปเรื่องราวดีๆ ออกมาเป็นคำเดียวกันว่า “สร้างคนก่อนสร้างชาติ” “แล้วคนไทยเราจะทำได้หรือพ่อ” “ไม่ต้องคิดไปไกล เริ่มที่ตัวเราก่อน เริ่มกันที่บ้าน เริ่มกันที่โรงเรียน และเริ่มกันที่บริษัท ที่โรงงานก่อน”


       ที่ร้านกาแฟสีเขียวแถวบ้าน ลูกวิ่งไปที่เคาน์เตอร์ขอเบอร์ Customer Service โทรแจ้งเลขบัตรที่เก็บได้ บอกให้พนักงานอายัดเงินที่เหลืออยู่แค่ 300 กว่าบาท พนักงานรู้ชื่อที่อยู่ของเจ้าของบัตรเดิมและออกบัตรใหม่ส่งให้ถึงบ้าน


       “วันนี้ลูกได้เรียนรู้สิ่งดีๆ จากญี่ปุ่นและสอบผ่านบททดสอบจากบัตรร้านกาแฟที่เก็บได้ แถมยังได้สร้างความประทับใจให้กับเจ้าของบัตรที่เป็นคนไทยอีกด้วย  พ่อรักลูกมาก"



 
 3391
ผู้เข้าชม

myAccount Cloud Accounting โปรแกรมบัญชีออนไลน์สำหรับ SMEs โปรแกรมบัญชีออนไลน์ที่ทำให้การทำบัญชีของคุณ เป็นไปอย่างง่ายดาย สะดวก รวดเร็ว

ข่าวสารล่าสุด

เมื่อวันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม 2557 เวลา 13.30-16.00 น. อาจารย์นิลาวรรณ วงศ์ศิลปมรกต อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ พร้อมคณะอาจารย์ และ ...
2103 ผู้เข้าชม
หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ พร้อมคณะอาจารย์ และ นักศึกษาระดับชั้น ปวช.ปีที่ 1 รวมทั้งสิ้น 73 คน ได้เข้าเยี่ยมชม บริษัท โปรซอฟท์ คอมเทค จำกัด
2694 ผู้เข้าชม
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2557 เวลา 14.00 น. Mr. Marc Miller Vice Consul ได้เข้าเยี่ยมชมบริษัท โปรซอฟท์ คอมเทค จำกัด
2185 ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์