กิจกรรม 5 ส. เป็นปัจจัยพื้นฐานการบริหารคุณภาพ ที่จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในที่ทำงานให้เกิดบรรยากาศที่น่าทำงาน เกิดความสะอาดเรียบร้อยในสำนักงาน ถูกสุขลักษณะ ทำให้พนักงานสามารถใช้ศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มความสามารถ สร้างทัศนคติที่ดีของพนักงานต่อหน่วยงาน
กิจกรรม 5 ส. เป็นกลยุทธ์อีกวิธีหนึ่งที่เปิดโอกาสให้บุคลากรมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพเป็น กิจกรรมที่ทำแล้วเห็นผลเร็วและชัดเจน นอกจากนั้นกิจกรรม 5 ส. จะเป็นพื้นฐานในการนำวิธีการบริหารใหม่ๆ เข้ามาใช้ในอนาคตต่อไป
5 ส. คืออะไร
กิจกรรม 5 ส. เป็นแนวคิดการจัดระเบียบเรียบร้อยในที่ทำงานก่อให้เกิดสภาพการทำงานที่ดีปลอดภัย มีระเบียบเรียบร้อย นำไปสู่การเพิ่มผลผลิต
ประโยชน์จากการทำกิจกรรม 5 ส.
1. บุคคลจะทำงานได้รวดเร็วขึ้น
2. เกิดความร่วมมือ ร่วมใจ จะเกิดขึ้น บุคลากรจะรักหน่วยงานมากขึ้น
3. บุคลากรจะมีระเบียบวินัยมากขึ้น
4. บุคลากรปฎิบัติตามกฎระเบียบ และคู่มือการปฎิบัติงานทำให้ความผิดพลาดและความเสี่ยงต่าง ๆ ลดลง
5. บุคลากรจะมีจิตสำนึกของการปรับปรุง ซึ่งจะนำไปสู่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน
6. เป็นการยืดอายุการใช้งานของเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ
7. การไหลเวียนของวัสดุ และ work in process จะราบรื่นขึ้น
8. พื้นที่ทำงานมีระเบียบ มีที่ว่าง สะอาดตา สามารถสังเกตสิ่งผิดปกติต่างๆ ได้ง่าย
9. การใช้วัสดุคุ้มค่า ต้นทุนต่ำลง
ขั้นตอนในการดำเนินงาน 5 ส.
1.ขั้นเตรียมการ (Perparation)
เมื่อหน่วยงานจะเริ่มต้นนำกิจกรรม 5 ส.มาใช้ สิ่งแรกที่จะต้องดำเนินการคือ การทำความเข้าใจกับผู้บริหารระดับสูง และจัดเตรียมแผนการดำเนินกิจกรรม ซึ่งสามารถดำเนินการตามลำดับดังนี้
1.1 สร้างความเพข้าใจกับผู้บริหารระดับสูง
1.2 การกำหนดนโยบายการดำเนินกิจกรรม 5 ส. โดยผู้บริหารสูงสุด
1.3 การกำหนดแผนการดำเนินกิจกรรม 5 ส.
1.4 ประกาศนโยบายให้ทุกคนทราบอย่างเป็นทางการ
1.5 อบรมให้ความรู้แก่พนักงานทุกคน
1.6 ผู้บริหารระดับสูง เยี่ยมชมหน่วยงานที่ได้ดำเนินกิจกรรม 5 ส. อย่างต่อเนื่อง
2.ขั้นเริ่มดำเนินการ (Kick off Project)
จัดกิจกรรมวันทำความสะอาดใหญ่ (Big cleaning Day) ถือเป็นวันเริ่มต้นของการดำเนินกิจกรรม กิจกรรมวันทำความสะอาดใหญ่นี้มีความสำคัญและต้องเตรียมการอย่างละเอียดรอบคอบมีการประชุมเตรียมการต่างๆ และแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ
3.ขั้นตอนดำเนินการ (Implementation)
3.1 รายละเอียดกิจกรรม เป็นการกำหนดกิจกรรมในเรื่อง 5ส. ของพื้นที่ว่ามีอะไรบ้างตามขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม5ส.
3.2 ระยะเวลาดำเนินการ จะต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าช่วงใดจะทำอะไร ใช้เวลาเท่าไรในการดำเนินงาน และระยะเวลาสิ้นสุดของแผนเมื่อใด เช่น แผน 1 ปี , แผน 2 ปี
3.3 ผู้รับผิดชอบ ในแผนควรกำหนดผู้รับผิดชอบในแต่ละหัวข้อไว้ด้วย
3.4 แผนที่ดีควรจะระบุให้ชัดเจนว่าแต่ละขั้นตอนใช้งบประมาณเท่าใด
3.5 วันที่จัดทำแผน เพื่อให่ทราบว่าแผนการดำเนินการนั้นทำไว้ตั้งแต่เมื่อใด
3.6 มีการประชุมของสมาชิกที่อยู่ในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ
3.7 ทุกคนในพื้นที่ต้องทำ 3 ส. แรกในพื้นที่รับผิดชอบรายละเอียดของการทำกิจกรรม
3.8 จัดให้มีการประเมินความคืบหน้าของการดำเนินกิจกรรม
บทความโดย : คุณอรวรรณ เทพนิยม