» เมื่อหลายสิ่งที่โดราเอมอนปฏิบัติต่อโนบิตะนั้นล้วนมีความหมาย
ไม่ว่าจะเติบโตมากับยุคสมัยไหน เชื่อได้อย่างหนึ่งว่า "โดราเอมอน" ผลงานเขียนของ "ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ" เป็นหนึ่งในตัวการ์ตูนในดวงใจของเด็ก ๆ จำนวนมาก
ในประเทศญี่ปุ่นบ้านเกิดของโดราเอมอนเองได้ประกาศให้โดราเอมอนเป็นวรรณกรรมเอกประจำชาติเรื่องหนึ่ง และผู้อ่านโดราเอมอนก็พัฒนาระดับการอ่าน จากอ่านเพื่อความบันเทิงหรือเพื่อจรรโลงใจเป็นอ่านในเชิงวิเคราะห์เจาะลึกประเด็นต่าง ๆ
เกิดเป็นศาสตร์ที่เรียกว่า... "โดราเอมอนศึกษา" ขึ้นมา โดย "อ.โยโกยาม่า ยาสุยุกิ" เป็นอาจารย์สอนวิชานี้อยู่ ที่มหาวิทยาลัยฟุคุยะมา และเป็นผู้ก่อตั้ง "ห้องสมุดโดราเอมอน" และผู้สร้างโฮมเพจ "หลักสูตรโดราเอมอนศึกษา"
ก่อนหน้าหนังสือ "วิถีแห่งโดราเอมอน ฝึกสอนคนขี้แพ้ให้เป็นผู้ชนะ" มีหนังสือชื่อ "วิถีแห่งโนบิตะ ชัยชนะของคนไม่เอาถ่าน" ออกมาก่อนแล้ว โดยผู้เขียนคนเดียวกัน
จากหนังสือการ์ตูนบันเทิงใจเด็ก ๆ กลายเป็นเป็นหนังสือ how to ที่สามารถแนะนำคนขี้แพ้ คนไม่เอาถ่าน ลุกขึ้นมาทำหลาย ๆ เรื่อง ที่นำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตได้
พอมาถึงหนังสือเล่มนี้ จะถูกมองในอีกมุมหนึ่ง นั้นคือ...วิถีแห่งโดราเอมอน
ทำอย่างไรถึงสามารถทำให้ "โนบิตะ" คนขี้เกียจ ชอบนอนกลางวัน ไม่ชอบทำอะไรใหม่ ๆ ที่คิดว่ายาก ตัวเองทำไม่ได้หรอก ไม่ชอบทำอะไรที่ต้องออกแรง ใช้กำลัง และอีกมากมายก่ายกอง ที่เสมือนเป็นหลุมดำในจิตใจของโนบิตะ และหากสิ่งเหล่านี้ยังสั่งสมต่อไปเรื่อย ๆ อนาคตของโนบิตะคงหนีไม่พ้นคำว่าล้มเหลวในชีวิต
"นั่นเพราะหลายสิ่งที่โดราเอมอนปฏิบัติต่อโนบิตะนั้นล้วนมีความหมาย "
แม้ว่าในทุก ๆ เหตุการณ์ ในทุกๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับโนบิตะ จะมีโดราเอมอนคอยเป็นผู้ช่วย แต่ถ้าสังเกตดี ๆ โดราเอมอนไม่เคยทุ่มลงไปทั้งตัว เพียงแต่คอยชี้แนะ
หนึ่งวิธีที่ใช้คือ "การดุด่า" จนทำให้รู้สึกว่าโดราเอมอนนี้ขี้บ่นเหมือนคนแก่จริง ๆ เลย แต่ในความจู้จี้ขี้บ่นของโดราเอมอนนั้นแฝงไปด้วยความรัก ความห่วงใย ความเมตตา และคำดุด่านั้นไม่ใช่การดุด่าที่บั่นทอนกำลังใจ ในความ "โหด" มีความ "รัก" บางครั้งการด่าว่าของโดราเอมอนเสมือนการเบรก เพื่อให้ชะลอในการคิดหรือการทำอะไรให้ตรึกตรองถี่ถ้วนเสียก่อน ไม่ใช่การเบรกกระชากให้หัวคว่ำเสียหลัก และบางครั้งการด่าของโดราเอมอนก็เป็นแรง "ฉุด" ให้โนบิตะเกิดความฮึกเหิม ฮึด มีพลังที่จะกระทำในเรื่องนั้น ๆ
"ไม่ว่าใครก็ทำผิดพลาดได้ทั้งนั้น และการบอกลูกน้องให้รู้ถึงความคาดหวัง หรือการเฝ้ารอต่างหาก ที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้ลูกน้องขยับแข้งขยับขาเพื่อต่อสู้กับการแก้ไขปัญหาด้วยทัศนคติที่แข็งแกร่ง"
นอกจากด่าแล้ว "ลูกยอ" ของโดราเอมอนก็มี ถ้าจำกันได้คงคุ้น ๆ ประโยคนี้ในหลาย ๆ ตอน "เห็นไหมโนบิตะก็ทำได้" หรือ "แหม ความคิดนายนี่เข้าท่าไม่สมกับเป็นนายเลยแฮะ"
นี่แหละคำชมจากโดราเอมอนสู่โนบิตะ ส่วนในหนังสือเล่มนี้ก็มีกฎของการชมว่า "จะใช้คำพูดและการกระทำแบบไหนดีที่จะเพิ่มศักยภาพของคนได้" เพราะการชมไปเรื่อย ชมได้ทุกเรื่อง ก็ส่งผลด้านลบเหมือนกัน ทั้งทำให้คนถูกชมหลงระเริง หรือทำให้ไม่เห็นค่าในคำชม
"เพิ่มศักยภาพในการชมทันทีเมื่อสำเร็จ ถ้ามีข้อดีสักนิดถึงแม้จะไม่ใช่ความสำเร็จยิ่งใหญ่อะไรนักก็อย่าลืมที่จะชมเพื่อเพิ่มศักยภาพในตัวเขา
- เพิ่มศักยภาพโดยการชมต่อหน้าเพียงลำพัง
- เพิ่มศักยภาพโดยการชมอยู่เสมอกับการกระทำที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน
- และเพิ่มศักยภาพโดยการชมบ้างเป็นบางครั้งกับเรื่องที่เขาทำอยู่เป็นประจำ"
"ของวิเศษ" ที่โดราเอมอนเอามาจากกระเป๋ามิติที่ 4 มาช่วยเหลือโนบิตะตามลำดับเวลานั้น เป็นเพียงเครื่องมือหรือไอเดียของกระบวนการทำในเรื่องราวต่าง ๆ เท่านั้น ไม่ใช่ของวิเศษที่นำพาโนบิตะไปสู่ความสำเร็จ จะเห็นได้ว่าในหลาย ๆ ครั้งผลลัพธ์ของการใช้ของวิเศษก็ล้มเหลวไม่เป็นท่าเหมือนกัน และการนำของวิเศษออกมานั้นโดยปกติแล้วโดราเอมอนให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาภารกิจของโนบิตะที่อยู่ตรงหน้าก่อนเสมอ โดยไม่ค่อยสนใจกับสถานการณ์หรือนิสัยของโนบิตะ
และทุกครั้งไปสิน่าที่โนบิตะเมื่อได้ของวิเศษแล้วมักไม่ยอมคืนให้โดราเอมอนง่าย ๆ ไม่ว่าโดราเอมอนจะทวงคืนยังไง จนถึงขั้นทำทีท่าไม่สนใจ หรือใช้สายตามองอย่างผิดหวังในตัวโนบิตะ
ซึ่งสุดท้ายมันก็ได้ผลต่อจิตสำนึกของโนบิตะเอง ที่รู้สึกผิด และรู้สึกละอายใจ จนผลลัพธ์ที่ออกมาสุดท้ายไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ความคิดและการกระทำของโนบิตะ ที่มีโดราเอมอนเป็นโค้ชให้นั้น ก็ล้วนถูกส่งขับมาจากพลังภายในใจของโนบิตะทั้งสิ้น
ในโลกแห่งความเป็นจริงของมนุษย์ทุกคนไม่มีโดราเอมอนมาคอยช่วยเหลือ ไม่มีของวิเศษมาช่วยดลบันดาลอะไรให้ง่ายขึ้น ทว่าทุกคนมีสองมือ มีมันสมอง เพียงแต่เลือกแนวทางให้ถูกต้อง และวิถีแห่งโดราเอมอน เป็นอีกหนึ่งวิถีที่คนในระดับหัวหน้าจะนำมาเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนพลังของลูกน้อง
บทความโดย : PostToday