เชียงใหม่ มหานครแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์

เชียงใหม่ มหานครแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์

 

 

 

 

เชียงใหม่ มหานครแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์

         “A creative economy is the fuel of magnificence.” -- Ralph Waldo Emerson 

      สัปดาห์ก่อนผมมีโอกาสได้เดินทางไปทำงานที่สำนักงานสาขาของบริษัทที่เชียงใหม่ ซึ่งถูกคาดหมายให้เป็นทำเลยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการขยายโมเดลธุรกิจใหม่เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับองค์กร แต่สิ่งที่ผมจะมาพูดถึงในวันนี้เกิดขึ้นในเช้าวันหนึ่งหลังจากที่ตื่นขึ้นมาแล้วมองไปยังทิวทัศน์เบื้องหน้า แล้วพบคำตอบว่าเพราะเหตุใดเชียงใหม่จึงเป็นเมืองแห่งศิลปะ เป็นเมืองแห่งนักหัตถศิลป์ เพราะหลังจากที่ฝนตกลงมาอย่างหนักในช่วงกลางดึก พอตื่นขึ้นมาในตอนเช้าผมได้พบกับทิวทัศน์ดอยสุเทพที่แม้เมื่อคิมหันตฤดูที่เพิ่งผ่านไปจะยืนเด่นตระหง่านร้อนแรงด้วยสีแดงเพลิงของต้นไม้ผลัดใบ แต่เมื่อถึงวสันตฤดูกลับพบว่าดงดอยเหมือนเอียงอายกระทั่งต้องร้องขอหมู่หมอกมาห่มคลุม ดูคลายเหมือนม่านสวรรค์ก็มิปาน

     ในเช้าวันนั้นเองทำให้ผมเข้าใจได้แจ่มแจ้งว่าเหตุใดเมืองเชียงใหม่จึงได้รับการขนานนามว่าเป็น “Craftsmanship City” หรือเมืองที่มีความเป็นสล่าอยู่ในสายเลือด โดยคำว่า "สล่า" แปลเป็นภาษาไทยภาคกลางคือ สกุลช่าง หรือความหมายอีกนัยคือความสามารถในการประดิดประดอยสิ่งต่างๆ โดยฝีมือของมนุษย์นั่นเอง
  
      เพราะนับตั้งแต่แรกตื่นขึ้นมาชาวเชียงใหม่ก็ได้สัมผัสกับความงดงามของธรรมชาติรอบตัวแล้ว ดังนั้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหากสล่าเชียงใหม่สามารถถ่ายทอดความสุนทรียภาพภายในออกสู่ผลงานหัตถศิลป์อันลือชื่อในหลายๆ แขนง  และเราสามารถพบชุมชนนักหัตถศิลป์อยู่ในแทบทุกตำบลหรือทุกอำเภอ ที่รังสรรค์ผลงานออกมาเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่มีทั้งประโยชน์ใช้สอยและคุณค่าอารยะวัฒนธรรม ไม่เว้นแม่กระทั่งแฝงอยู่ในเครื่องแต่งกาย บ้านเรือน ที่อยู่อาศัย ศิลปวัตถุ และงานประเพณีต่างๆ

      เชียงใหม่มีอารยะธรรมทางประวัติศาสตร์ที่เป็นมรดกส่งทอดจากรุ่นสู่รุ่นมากว่า 700 ปี สามารถผสมผสานเมืองที่มีวัฒนธรรมและมรดกที่หลากหลายกระทั่งคลี่คลายเป็นบุคลิกที่เป็นเอกลักษณ์ในตัวของตัวเอง มีสถานที่ท่องเที่ยวที่ติดอันดับโลก มีระดับคุณภาพชีวิตสูง กลายเป็นมหานครที่มีมนต์เสน่ห์ดึงดูดให้ผู้คนมาสัมผัสไม่เสื่อมคลายทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ 

      อย่างไรก็ตามในปัจจุบันเชียงใหม่ยังขาดแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวที่จะมองไปยังอนาคตว่าจะมีการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดไปอย่างไรในระยะ 10 ปี นับจากนี้ เพราะหากไม่มีทิศทางที่แน่นอน ความมั่งคั่งทางด้านวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าและความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และทุนทางสังคมที่กล่อมเกลาให้ผู้คนมีความเป็นคนมีมิตรจิตมิตรใจอันดีงาม อาจสูญสลายไป ด้วยการมุ่งพัฒนาเชียงใหม่ไปในทิศทางที่ตอบสนองการเติบโตของรายได้เพียงด้านเดียว อาจนำมาซึ่งอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการผลิตกระทั่งทำลายทุนทางสังคมและวัฒนธรรมลงอย่างสิ้นเชิง 

      ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ชาวเชียงใหม่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันวางแนวทางการพัฒนาเมืองที่เป็นมรดกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ให้ก้าวเดินไปบนเส้นทางการพัฒนาที่เติบโตทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ไปพร้อมๆ กับการธำรงรักษาไว้ซึ่งความเป็นเมือง “สล่า” ที่มั่งคั่งทางวัฒนธรรม การรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่สวยงามทั้งป่าเขาลำเนาไพร ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างรายได้อย่างยั่งยืน และการบำรุงเลี้ยงจิตใจอันงดงามในแบบของชาวเชียงใหม่เองที่รุ่มรวยด้วยความเป็นมิตรไม่ตรีแก่ผู้มาเยือน

      แนวทางที่ควรจะเกิดขึ้นคือทุกฝ่ายทั้งภาคชุมชน ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ และภาครัฐบาล รวมไปถึงภาคต่างประเทศก็ตาม จะต้องมาร่วมมือร่วมใจในการสร้างบ้านแปงเมืองเชียงใหม่ด้วยกุศโลบายการพัฒนาที่สร้างสรรค์ในทุกมิติระหว่างสภาพแวดล้อม โครงสร้างทางสังคม ระบบ โครงสร้างทางเศรษฐกิจ และการนำสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมตลอดจนจารีตประเพณีของท้องถิ่น แล้วผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ นั่นคือการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาเพื่อเป็นตัวช่วยในการพัฒนา

      อาศัยจุดเด่นที่เชียงใหม่เป็นเมืองแห่งการศึกษา มีโรงเรียนหลากหลายและมหาวิทยาลัยกว่า 10 แห่ง ร่วมกันวิจัยและพัฒนาสร้างองค์ความรู้และความคิดสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมเดิมไปสู่อุตสาหกรรมที่ทันสมัย อาทิ อาหาร หัตถกรรม เฟอร์นิเจอร์ เซรามิก เครื่องเพชรพลอย 

      นอกจากนี้ยังสามารถสร้างสรรค์อุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและทำลายศิลปวัฒนธรรมของล้านนา อาทิ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อุตสาหกรรมไอที อุตสาหกรรมออกแบบ อุตสาหกรรมบริการที่ปรึกษาและการวิจัย อุตสาหกรรมการศึกษา อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และอุตสาหกรรมที่อาศัยองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เป็นต้น 

       ผลที่ได้รับจากการพัฒนาในแนวทางนี้ไม่เพียงแต่เป็นการดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมหาศาล ก่อให้เกิดการจ้างงานขนานใหญ่ และนำมาซึ่งการเพิ่มรายได้ของจังหวัดและของประเทศในท้ายที่สุด การนำไอทีมาใช้ยังช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับทรัพยากรมนุษย์และเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในเชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับผลกระทบจากการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ได้อย่างดีที่สุดอีกด้วย
 

  
 

บทความโดย นคร สังขรัตน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โปรซอฟท์ คอมเทค จำกัด

 2616
ผู้เข้าชม

myAccount Cloud Accounting โปรแกรมบัญชีออนไลน์สำหรับ SMEs โปรแกรมบัญชีออนไลน์ที่ทำให้การทำบัญชีของคุณ เป็นไปอย่างง่ายดาย สะดวก รวดเร็ว

ข่าวสารล่าสุด

เมื่อวันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม 2557 เวลา 13.30-16.00 น. อาจารย์นิลาวรรณ วงศ์ศิลปมรกต อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ พร้อมคณะอาจารย์ และ ...
2107 ผู้เข้าชม
หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ พร้อมคณะอาจารย์ และ นักศึกษาระดับชั้น ปวช.ปีที่ 1 รวมทั้งสิ้น 73 คน ได้เข้าเยี่ยมชม บริษัท โปรซอฟท์ คอมเทค จำกัด
2697 ผู้เข้าชม
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2557 เวลา 14.00 น. Mr. Marc Miller Vice Consul ได้เข้าเยี่ยมชมบริษัท โปรซอฟท์ คอมเทค จำกัด
2190 ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์