การทำงานทุกอย่างสิ่งที่ผู้บริหารต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ปัญหา หรือการเผชิญปัญหาที่ต้องใช้ความคิดในการตัดสินใจ การคิดหรือความคิดจะต้องคิดแบบมีกระบวนการอย่างเป็นระบบ โดยอาศัยมุมมองที่ละเอียดรอบคอบ อยู่บนหลักการการพัฒนากระบวนการคิดซึ่งประกอบด้วย กรอบโลกทัศน์ที่ผสมผสานระหว่างที่คิด คิดอย่างไร การสรุปความคิดออกมาว่าจะใช้กรอบความคิดอย่างไร นิสัยของผู้คิดจะมีความเชื่อมโยงกับรูปแบบวิธีคิด และเป็นตัวกำหนดการคิดรวมถึงรูปแบบการแก้ปัญหาจากอารมณ์ของผู้คิด ซึ่งเมื่ออารมณ์เป็นแบบใด สมองก็จะสร้างภาพหรือเกิดจินตนาการถ่อยทอดอารมณ์ในการแก้ปัญหา ท่านคิดว่าผู้บริหารใช้เวลาส่วนใหญ่คิดถึงสิ่งใดมากที่สุด เมื่อสำรวจจะพบผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จจะตอบเหมือนกันว่าใช้เวลาส่วนใหญ่คิดถึงสิ่งที่เขาต้องการและวิธีที่จะได้มันมา ในทางตรงกันข้ามผู้บริหารที่ไม่ประสบความสำเร็จและไม่มีความสำเร็จและ/ หรือไม่มีความสุข จะคิดและกล่าวถึงสิ่งที่เขาไม่ต้องการ จะคิดและพูดเกี่ยวกับปัญหา ความกังวลใจ และคนที่เขาไม่ชอบ
เมื่อผู้บริหารคิดและพูดอยู่เสมอเกี่ยวกับสิ่งที่คุณต้องการและวิธีที่ได้มันมา วิธีคิดเช่นนี้จะกลายเป็นนิสัยในไม่ช้า และจะคิดในแง่บวก มีใจมุ่งมั่น และสร้างสรรค์ จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดที่สร้างขึ้นมา เพื่อประสบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ และมีความสุข นั่นคือ การมองโลกในแง่ดี โดยการคิดในทางที่ดีตลอดเวลา คนที่มองโลกในแง่ดี มีวิธีจัดการกับชีวิตอยู่ 2 วิธี ซึ่งเป็นทัศนคติที่สามารถสร้างและปฏิบัติได้
วิธีแรก ผู้บริหารที่มองโลกในแง่ดีจะมองหาสิ่งที่ดีในทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะเมื่อเขาพบกับความพ่ายแพ้ และอุปสรรค เขาคิด ในแง่บวกโดยการมองหาสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในปัญหา จะพบบางสิ่งอยู่เสมอแล้วนำมาพัฒนาตนเอง
วิธีที่สอง การมองโลกในแง่ดีจะมองหาบทเรียนที่มีคุณค่าจากปัญหาหรือความยุ่งยากที่เกิดขึ้น และเชื่อว่าความล้มเหลวหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นชั่วคราวนั้นเป็นบทเรียนในชีวิตที่สอนบางอย่างแก่เขา
การบริหารงานจากความคิดที่เป็นแนวทางนำผู้บริหารมีชีวิตอย่างมีความสุขในการทำงาน มีแนวทางดังนี้
เริ่มต้นจากการคิดถึงอนาคต คนที่คิดเชิงบวกและมีความสุข เป็นคนที่ชอบคิดถึง พูด และมีมุมมองถึงอนาคตที่ชัดเจน และน่าตื่นเต้นในสิ่งที่เป็นไปได้สำหรับเขามากกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต
ขั้นตอนต่อไป คือ คิดถึงเป้าหมาย เมื่อได้ฝันและจินตนาการเกี่ยวกับอนาคตในอุดมคติ ให้เขียนเป้าหมายที่ชัดเจน และวางแผนที่จะลงมือทำได้ทุกวัน โดยรวบรวมความสนใจและพลังงานทั้งหมด และใช้เป้าหมายนำไปสู่อนาคต
ต่อจากนั้น คิดถึงสิ่งดีเลิศ ให้คำมั่นว่าแค่ตนเองจะทำทุกสิ่งอย่างดีเลิศ เพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งของตนเองย่างน้อยร้อยละ 10 ในหน่วยงานของตน โดยกำหนดกลุ่มงานหลัก (Key result areas) และตั้งมาตรฐานสำหรับการกระทำที่ดีเลิศในทุกๆ ด้าน โดยทำงานในหน้าที่ตนเองทุกวันและไม่มีวันหยุดที่จะปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น
ลำดับต่อไป คือ คิดหาแนวทางแก้ปัญหา โดยคิดวิธีแก้ปัญหาคิดถึงสิ่งที่ต้องทำ แทนที่จะคิดถึงคนที่ต้องถูกตำหนิ และหาวิธีคิดในการปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ของตนเองและผู้ร่วมงานรอบๆ ให้ถึงเป้าหมายว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข และเชื่อว่าทุกปัญหามีทางแก้ปัญหาได้
ต่อจากนั้น คิดถึงผลที่ได้รับ ผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จและมีความสุขจะชอบคิดถึงผลที่ได้รับ โดยจะวางแผนล่วงหน้าในแต่ละวัน จากนั้นจะทำงานตามเป้าหมายนั้น ซึ่งเป็นการใช้เวลาอย่างคุ้มค่าที่สุด การทำงานหนักและเป็นที่ยอมรับว่ามีผลงานมาก มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารงาน องค์การจะก้าวหน้าเร็วกว่า โดยอุทิศตนให้กับงานและโลกส่วนตัว การคิดถึงความก้าวหน้า ผู้ที่ประสบความสำเร็จสูงจะชอบคิดถึงความก้าวหน้า จะอ่านหนังสือ ฟังเทปเพื่อการศึกษา เข้าร่วมสัมมนาและอบรมในหลักสูตรเพิ่มเติมอยู่เสมอ มีความตั้งใจที่จะเป็นบุคคลแถวหน้าในหน่วยงานของตน รู้ว่าอนาคตจะเป็นคนที่มีความสามารถและคนที่รู้มากกว่าเดิม รู้ว่ามีการแข่งขันและตนอยู่ในการแข่งขันนั้นด้วย มีความตั้งใจที่จะชนะ
และประการสุดท้าย คือ คิดถึงการกระทำ ผู้ที่ประสบความสำเร็จชอบคิดถึงการกระทำ คิดเกี่ยวกับสิ่งที่เขาทำได้ในตอนนี้ เพื่อที่จะไปสู่เป้าหมายให้เร็วขึ้น และลงมือทำอย่างไม่ลดละ ทำงานในเวลาอันรวดเร็ว มีสำนึกแห่งการเร่งรีบ ทำได้มากกว่าที่คนทั่วไปทำ ยิ่งทำได้มากขึ้น ก็ยิ่งเก่งขึ้น มีคุณค่ามากขึ้นและได้รับผลตอบแทนมากขึ้น ไม่มีขีดจำกัดสำหรับความเป็นไปได้ในความสำเร็จ
เมื่อผู้บริหารมีความคิดในการมองโลกในแง่ดีดังกล่าวข้างต้นแล้ว ท่านจะต้องเลือกสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการคิดที่สร้างความมั่นใจในการบริหารงาน ดังภาษิตที่กล่าวว่า “ขึ้นที่สูงอย่าแบกของหนัก” นั้น หมายถึง ต้องรู้จักเลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารงานและต้องคิดชอบ ไม่แบกสิ่งไร้สาระไม่เป็นแก่นสารเอาไปคิดวนเวียนอยู่ที่เดิม เมื่อคิดถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้แล้ว จะตั้งอยู่บนความไม่ประมาท นั่นคือ ความหลง นั่นคือ การหลงตนเองว่าเก่งในทุกๆ เรื่อง หรือเรื่องหนึ่งเรื่องใด หลงว่าตนเป็นคนดี หรือดีกว่าเพื่อนร่วมงาน แล้วเอาความคิดของตนเป็นที่ตั้ง ขาดการเปิดใจ การเปิดรับการเรียนรู้ การเรียนรู้จากผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นผู้ร่วมงาน หรือสังคมรอบข้าง ผู้บริหารจะต้องเตือนตนเองในเรื่องนี้อย่างสม่ำเสมอ นั่นคือ การรู้ตัวอย่างมีสติในการคิดพิจารณาถึงเหตุและผล การเปลี่ยนแปลงของสังคมความเป็นอยู่ ให้คิดวิเคราะห์ก่อนตัดสินใจเชื่อในสิ่งหนึ่งสิ่งใด เปิดใจกว้างในการรับฟัง ด้วยข้อตกลง ด้วยเหตุผล ไม่ยึดติดตัวตน ไม่ตัดสินใจผู้อื่น ซึ่งอาจไม่ใช่ข้อสรุปที่ถูกหรือผิด หรือขาว-ดำ แต่ขอให้เกิดจากความเข้าใจระหว่างผู้ร่วมงานที่ตรงกันจากความเข้าใจที่ครบถ้วนรอบด้าน
เรื่องความหลงนับเป็นจุดบอดของผู้บริหารหลายคน เป็นที่น่าเสียดายในความเก่งความสามารถ หากรู้จักลดทอนอัตตาและความเห็นแก่ตัวลงไปได้บ้าง เรียนรู้ที่จะรับฟัง ยอมรับผิดและแก้ไข คงสามารถยังประโยชน์แก่ตัวเองและหน่วยงานได้อีก หนทางระวังไม่ให้เกิดความหลงได้แก่ การมีเพื่อนที่ดี (กัลยาณมิตร) ที่คอยบอกเตือนกันในทางสร้างสรรค์ เพราะถ้าหลงวนกับตัวเอง คงต้องอาศัยคนอื่นมาช่วยกระทุ้งทางในการบริหารงานบุคคล มีระบบประเมินแบบ 360 องศา ที่ให้คนรอบตัวในระดับที่สูงกว่า อยู่ในระดับเดียวกันไปจนที่อยู่ใต้บังคับบัญชาแสดงความเห็นต่อการทำงานของเรา มีการพิจารณาความพึงพอใจของผู้ร่วมงาน
แต่จะหากัลยาณมิตรจากไหน โดยเฉพาะในสังคมที่ซับซ้อนเต็มไปด้วยการแข่งขัน จะเชื่อได้อย่างไรว่าสิ่งที่ได้มาเป็น Feedback เกิดจากความปรารถนาดี และการใคร่ครวญด้วยเหตุผล มิใช่อารมณ์ คงต้องบอกว่าเป็นการยากที่จะไปกำหนดกะเกณฑ์ความคิดคนอื่น
สิ่งที่ทำได้ คือ เริ่มที่ตัวเอง คิด พูด และทำดีกับคนอื่น ก็จะเป็นเครื่องมือดึงดูดคิด พูด และทำดีกับตัวเรา เพราะเขาเหล่านี้ก็ปรารถนาในสิ่งเดียวกัน แสดงเจตนารมณ์ที่บริสุทธิ์ในความต้องการเปิดและรับฟังการตักเตือนและชักชวนกันไปในทางที่ดี ยืนยันได้จากหลายธุรกิจที่ได้พบลูกค้าและคู่ค้าที่เป็นกัลยาณมิตร หากได้ฟังข้อคิดจากผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงหลายท่าน จะเห็นว่าเขาให้ความสำคัญกับข้อนี้อย่างมาก ยกตัวอย่าง เช่น บิล เตส์ กับ วอร์เรน บัฟเฟอร์ เป็นต้น
สุดท้ายก่อนจบ ว่าด้วยกระบวนการคิดมายืดยาวแล้ว ขอย้ำว่าคิดแล้วให้ลงมือทำด้วย คิดกับคนอื่นก็ให้พูดดี ทำดีกับเขาด้วย มิใช่เพียงตั้งหน้าตั้งตาคิด คิดชอบ เห็นประโยชน์ในการงาน ก็ให้ลงมือทำเพื่อให้เกิด ผลได้จริง คิดหวังเห็นประเทศพัฒนาไปในทางที่ดีมีศีลธรรมก็ให้เริ่มมีส่วนร่วมลงมือทำ
ความสำคัญของการคิด กำหนดชี้นำไปสู่พฤติกรรมต่างๆ ที่ความคิดมีบทบาทสำคัญก็ด้วยการที่ความคิดดำเนินไปอยู่ตลอดเวลา แม้ในบางขณะที่เราพูดไม่ได้ ไม่ได้พูด ทำไม่ได้ หรือไม่ได้ทำ ความคิดก็ยังโลดเล่นต่อไป กระทั่งลมหายใจสุดท้าย บางรายก็ไม่ได้หยุดคิด
ด้วยความไวกว่าแสงของความคิด ทำให้ความสามารถในการรับรู้ความคิดตนเอง นับเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะเป็นเครื่องมือให้เรารู้เท่าทัน และไม่ปล่อยให้ความคิดดำเนินไปในทางที่ผิด ไม่ก่อประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น มี 4 มิติ ดังนี้
1. “การคิดชอบ” คือ คิดในทางที่ดีและเป็นกุศล อาจเชื่อมโยงได้กับเรื่องราวคิดบวกที่เป็นประเด็นของยุคสมัยนี้ มีหลายธุรกิจที่นำไปปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารแบรนด์แบบ Feel Good ของ ดีแทค หรือการสร้างวัฒนธรรมองค์กรชนิดมองโลกในแง่ดี
นอกจากการคิดอย่างมีสติและการคิดชอบแล้ว ยังควรคิดอย่างรอบคอบถี่ถ้วนเห็นข้อดี ข้อเสีย ความเชื่อมโยงของเหตุ และผลรวมถึงองค์ประกอบต่างๆ ข้อนี้นับเป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้บริหารที่มีหน้าที่หลัก คือ การตัดสินใจเมื่อมีข้อมูลและบทวิเคราะห์มาให้ ก็เป็นหน้าที่ของผู้บริหารต้องนำมาประมวลคิดให้ครบก่อนตัดสินใจสั่งการ มิติของการคิดให้ครบอาจประกอบไปด้วย ด้านกว้าง ด้านยาว ด้านลึก และด้านสูง
2. คิดกว้าง คือ คิดให้ครอบคลุม ไม่มองเฉพาะส่วนของตนเอง หากเป็นธุรกิจต้องคิดไปถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบด้านด้วย ในระดับบุคคล คือ รู้จักคิดถึงใจเขาใจเรา ไม่เอาตัวเองเป็นใหญ่ คิดยาว คือ มองไปไกลๆ ถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้น อันเป็นผลจากการคิดและการกระทำในวันนี้
3. คิดลึก คือ คิดลึกซึ้ง ไม่มองแต่เปลือกผิว แต่ค้นเจาะถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ ได้แก่ การไม่มองเพียงความต้องการของผู้บริโภค แต่ทำความเข้าใจไปถึงที่มาความคิด ทัศนคติ รูปแบบการดำรงชีวิต บางแบรนด์ถึงกับมองย้อนไปสู่วัยเด็กของผู้บริโภค เพราะเชื่อว่าเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมปัจจุบัน อีกมิติ คือ
4. การคิดสูง ได้แก่ การคิดในทางที่ช่วยยกระดับจิตใจให้ไปสู่ความผ่องแผ้ว ยกระดับธุรกิจให้ไปสู่ความสามารถสร้างคุณค่าที่แท้จริงให้แก่สังคม
การคิดเยอะ คิดซับซ้อน แท้จริงแล้วทุกมิติสามารถเกิดขึ้นได้โดยสะดวก ลื่นไหล หากรู้จักฝึกคิดด้วยสติ สมาธิ และปัญญาอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญต้องอย่าคิดมากเกินไป ในที่นี้คือ การไปหยิบเอาสิ่งที่เกิดจากการปรุงแต่งของตัวเอง เช่นนี้เรียกว่า คิดฟุ้งซ่าน ไม่อาจเอาสิ่งต่างๆ มาสังเคราะห์รวมกันได้ ส่งผลให้เป็นคนขาดความเชื่อมั่น ลังเลใจอยู่เสมอ บาวรายชอบผัดผ่อน ด้วยความไม่แน่ใจของตัวเอง และอาจเป็นคนขี้น้อยใจ ใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง
การคิดมากนับเป็นตัวปิดกั้นผู้บริหาร เมื่อคิดแล้วจะมีวิธีจูงใจผู้อื่นให้คล้อยตามความคิดของเราลองปฏิบัติ ดังนี้
1. อย่าโต้แย้ง หรือโต้เถียงโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ก็ตาม ถ้าไม่มีหน้าที่ อย่าไปพิสูจน์ว่า ผู้อื่นผิด หลังการโต้เถียง ต่างฝ่ายต่างเชื่อมั่นว่าตนถูกมากกว่าเดิม และจะรู้สึกเสียหน้า ถ้าต้องเปลี่ยนความคิดเห็น คนโดยทั่วไปจะไม่เปลี่ยนทัศนคติต่อเรื่องใดๆ ถ้าเขาต้องเชื่อเพราะถูกบังคับให้เชื่อในเรื่องที่เขาไม่เห็นด้วยมาตั้งแต่แรก การโต้แย้งไม่สามารถเปลี่ยนใจมนุษย์ได้ มิตรภาพ/ความรู้สึกที่ดี จะไม่มีวันเกิดขึ้นหลังการโต้เถียง
2. เคารพความคิดเห็นของฝ่ายตรงข้าม อย่าบอกว่าเค้าผิด ถ้าต้องการจะพิสูจน์ให้เห็นข้อเท็จจริงที่แตกต่างจากเขา อย่าบอกให้เขารู้ตัวล่วงหน้า เช่น อย่าพูด “เราจะพิสูจน์ให้คุณเห็นว่า สิ่งที่คุณพูดไม่ได้เรื่องหรือผิด” ควรพูด “เรื่องนี้เราคิดอย่างนี้ ซึ่งอาจจะผิดก็ได้” นักวิทยาศาสตร์ จะไม่พยายามพิสูจน์สิ่งใดๆ เพียงแต่หาข้อเท็จจริงมาเผยแพร่เท่านั้น ไม่มีมนุษย์คนใดชอบฟังความจริงที่เกี่ยวข้องกับความผิดพลาด หรือความล้มเหลวของเขา
3. ถ้าทำผิด ให้รีบรับผิดทันที โดยไม่มีข้อโต้แย้งและเตรียมใจ รีบตำหนิตัวเอง อย่าแก้ตัว จะทำให้ลดแรงกดดันจากฝ่ายตรงข้ามได้มาก
4. เริ่มต้นสนทนาด้วยมิตรไมตรีที่ดี ถ้าเขายังโกรธเราอยู่ ไม่ว่าเราจะพูดอะไร เขาจะไม่เชื่อ ไม่ฟัง แสดงให้เขาเห็นว่า เรามีเจตนาที่ดีต่อเขา ต้องการช่วยเขาด้วยใจจริง ปรึกษาหารือกันว่า ทำไมเราจึงเห็นขัดแย้งกัน ประเด็นปัญหาคืออะไร
5. ทำให้ฝ่ายตรงข้ามยอมรับคำว่า “ ใช่” “ถูก” ในทันทีที่เริ่มสนทนา เทคนิคของ Socrates โดยเลือกเรื่องง่ายๆ ที่เป็นความจริงของเรื่องที่จะสนทนาที่จะพูดก่อน
6. พูดให้น้อย ฟังให้มาก ในบางกรณี การฟังจะได้ประโยชน์มากกว่าสร้างศัตรูได้น้อยกว่าการพูด ผู้ประสบความสำเร็จส่วนมากชอบระลึกถึงการต่อสู้ดิ้นรนในอดีต ไม่มีใครอยากฟังเราโม้ถึงความสำเร็จของเรา ควรถ่อมตนจะดีกว่า
7. ทำให้เขาเกิดความรู้สึกว่าความคิดที่เราเสนอ แท้ที่จริงเป็นความคิดของเขา แต่ลืมไป หรือเป็นความคิดของเรา แต่ให้เขาพิจารณาใครครวญตัดสินใจเอง ไม่มีใครมีความสุขที่ต้องทำอะไร เพราะความคิดของคนอื่น ถูกสั่งให้ทำ คนทั่วไปชอบที่จะให้คนอื่นมาพูดกับเขาว่า ลองคิดทบทวนใหม่ พยายามพูดย้ำโดยไม่ตั้งใจ เพื่อให้สิ่งที่พูดฝังอยู่ในใจของเขา เผื่อที่เขาจะได้นำมันมาคิดแล้วคิดอีก แล้วตัดสินใจตามเรา
8. พยายามอย่างสุจริตใจที่จะมองสิ่งต่างๆ ในแง่คิดของเขา คนฉลาด อดทน มีคุณสมบัติพิเศษ มีความเป็นผู้นำเท่านั้น จึงจะเท่าได้ ลองถามตัวเองว่า ถ้าเราตกลงอยู่ในฐานะเดียวกับเขา เราจะรู้สึกอย่างไร และจะแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างไร ลองถามตัวเองว่า ทำไมเขาจึงทำอย่างนั้น ทำเพื่ออะไร มีอะไรเป็นมูลเหตุจูงใจซ่อนอยู่ภายใน
9. เห็นใจในความรู้สึกนึกคิด ความต้องการขีดจำกัดของเขา แผ่เมตตา ให้อภัย ไม่อาฆาต เห็นอกเห็นใจในชะตากรรมของเพื่อมนุษย์ด้วยกัน
10. ขอร้องด้วยการพูดด้วยเหตุผลว่า สิ่งที่เสนอน่าดีกว่า แต่ไม่ใช่สิ่งที่เขาเสนอไม่ดี ถ้าเราไม่มั่นใจว่า เขาเป็นคนอย่างไรต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า เขาเป็นคนมีเกียรติ ซื่อสัตย์ สุจริต และปฏิบัติต่อเขาด้วยดี ทุกคนตีราคาคุณค่าของตัวเขาเองทุกคน ปล่อยให้เขาคิดและเปรียบเทียบ ตัดสินใจดำเนินการเลือกเอง คนแต่ละคนมีนิสัยต่างกัน ได้รับการอบรมสั่งสอน มีประสบการณ์ชีวิตแตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องมีวิธีการจัดการไม่เหมือนกัน
11. แสดงความคิดเห็นให้เป็นที่เร้าใจ มีพลัง และด้วยความกระตือรือร้น ใช้ถ้อยคำสุภาพ ยิ้มแย้มแจ่มใสขณะพูด ต้องเชื่อมั่นเต็มที่ว่า สิ่งที่เสนอนั้นสามารถปฏิบัติได้/ ดีกว่าของเดิมจริง
12. ลองใช้วิธีการพูดท้าทายดูบ้าง เช่น สิ่งนี้เราเสนอนี้ คนที่เก่ง หรือคนที่มีความสามารถเท่านั้นที่ทำได้ เราผู้เสนอมีเพียงความคิด แต่ไม่สามารถ หรือมีความชำนาญมากพอที่จะทำได้ สิ่งที่จะทำนี้ไม่ง่าย แต่จากสิ่งที่ผ่านมา เราคิดว่าไม่เกินความสามารถของทุกคน สิ่งนี้คุณทำได้อยู่แล้ว ถ้าอยากจะทำ เราไม่ตำหนิคุณหรอกที่คุณรู้สึกกลัว เพราะสิ่งนี้มันยาก ต้องใช้ความสามารถและความอดทนมาก คนเก่งๆ เท่านั้นที่จะทำได้
บทความโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.พาณี สีตกะลิน
ที่มา : stou.ac.th