สินค้าและบริการรอบตัวเราทุกวันนี้ล้วนแต่เป็น “นวัตกรรม” ล่าสุดให้ได้สัมผัส ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ทั่วไป เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะ ฯลฯ
ดูจากข่าวคราวตามหน้าหนังสือพิมพ์ก็จะเห็นเรื่องนวัตกรรมมากมาย แต่ในแวดวงธุรกิจกลับเห็นความสับสนในการหาทางสร้างนวัตกรรมของตัวเองเพราะหลายๆ คนก็ยังคลำทางหาจุดเริ่มต้นไม่เจอ
ผมเชื่อว่าพื้นฐานของนวัตกรรมไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝัน และไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะศูนย์วิจัยและพัฒนาขนาดใหญ่มูลค่าหลายร้อยหลายพันล้าน แต่อาจเริ่มต้นได้ง่ายๆ จากความต้องการของผู้ใช้ จากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป และจากเครือข่ายในการทำธุรกิจที่เรามีอยู่เพราะความต้องการของผู้ใช้เป็นสิ่งที่ผันแปรตามสภาพแวดล้อมที่ไม่เคยอยู่กับที่ เป็นโอกาสของภาคธุรกิจให้ปรับตัวสร้างสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ เช่น วอทสแอพ โปรแกรมส่งข้อความยอดนิยมที่ผู้อ่านหลายท่านเคยใช้ และครองใจคนมาแล้วทั่วโลกก็เจอกับคู่แข่งสำคัญอย่างไลน์ที่เริ่มมีฐานผู้ใช้มากขึ้นๆพื้นฐานของไลน์ไม่ได้มีเทคโนโลยีแปลกใหม่แต่อย่างใดในฐานะโปรแกรมสื่อสารข้อความผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟน แค่เพิ่มลูกเล่นเล็กน้อยอย่างสติกเกอร์เข้ามาเท่านั้น ซึ่งตรงใจผู้ใช้จำนวนไม่น้อยที่ต้องการส่งภาพการ์ตูนน่ารักๆ แทนความรู้สึกมากกว่าพิมพ์ข้อความอย่างเดียวซึ่งดูเป็นทางการเกินไป
อีกตัวอย่างที่น่าจะทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นก็คือ อุตสาหกรรมเพลงที่ขยับจากเครื่องเล่นเทปยอดนิยม วอล์คแมนมาสู่เครื่องเล่นซีดีและกลายเป็นเอ็มพี 3 ในทุกวันนี้ ซึ่งไอพอดกลับกลายเป็นนวัตกรรมที่เข้ามาเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมนี้ทั้งๆ ที่สตีฟ จ็อบส์แทบจะไม่เคยมีบทบาทในอุตสาหกรรมนี้มาก่อนที่สำคัญการกำเนิดของไอพอดก็ไม่ใช่นวัตกรรมหลุดโลกที่ไม่มีใครคิดถึง เพราะในเวลานั้นไฟล์เพลงเอ็มพี 3 และฮาร์ดดิสก์ขนาดเล็กที่พกพาได้ก็ถือกำเนิดขึ้นมานานแล้ว แต่แอ๊ปเปิ้ลนำทั้งสองอย่างนี้มาผสมผสานกันแล้วสร้างระบบอินเตอร์เฟซที่ใช้งานง่ายตรงกับความต้องการของผู้ใช้ก็กลายเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนโฉมแอ๊ปเปิ้ลที่สร้างสรรค์ไอโฟน ไอแพดต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ความต้องการของผู้บริโภคเป็นคำตอบของทุกสิ่ง ในอดีตอาจฟังดูเป็นเรื่องตลกที่จะบอกคนอื่นว่าจะไปจ่ายค่าน้ำค่าไฟที่ร้านสะดวกซื้อ แต่จากการสำรวจวิจัยพบว่าร้านสะดวกซื้อเป็นสถานที่ที่ผู้บริโภคต้องแวะเวียนมาเป็นประจำอยู่แล้ว การรวมบริการเหล่านี้เข้าด้วยกันจึงตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้มากที่สุดสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจึงเป็นภาพสะท้อนของความต้องการของผู้บริโภคที่ค่อยๆ เปลี่ยนไปทีละน้อย แต่จะมีอะไรที่สร้างสรรค์ขึ้นมาได้ตรงกับใจของเขา เราอาจบอกไม่ได้นอกจากลองถูกลองผิด เพื่อหาสิ่งที่ “ใช่” และกันสิ่งที่ “ไม่ใช่” ออกไปให้มากที่สุดกรณีศึกษาในต่างประเทศอย่างเช่น วอลมาร์ต ซูเปอร์สโตร์รายใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา มีจุดเด่นที่ราคาถูกที่สุดในทุกรัฐจนยากที่จะมีใครก้าวขึ้นมาแข่งด้วยได้ แต่ทาร์เก็ตกลับทำได้ด้วยจุดเด่นง่ายๆ คือความสดใหม่ของสินค้าและการเลือกสินค้าที่ตอบโจทย์ชีวิตประจำวันของคนทั่วไปเท่านั้นเมื่อความต้องการของผู้บริโภคปรับเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย จึงเป็นทั้งวิกฤติและโอกาสให้คนทำธุรกิจในเวลาเดียวกัน เพราะคนที่ปรับตัวได้ก็เท่ากับจับความต้องการของผู้บริโภคได้และสร้างสรรค์นวัตกรรมออกมาได้สำเร็จแต่ถ้ายังมัวยึดติดกับความเคยชินของพฤติกรรมผู้บริโภคแบบเดิมๆ เราก็จะทำได้แค่ผลิตสินค้าเดิมๆ ออกมา อย่างมากก็เพียงแต่ปรับเปลี่ยนสีสันรูปแบบ แต่การใช้งานสู้สินค้าใหม่ๆ ที่ผลิตออกมาตามหลังไม่ได้ โอกาสจึงเป็นของผู้ที่ปรับตัวก่อนเสมอ
บทความโดย : คุณวิโรจน์ เย็นสวัสดิ์ | Facebook
ที่มา : แจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ