นักศึกษาคนหนึ่งถามนักธุรกิจมหาเศรษฐี วอร์เรน บัฟเฟตต์ ครั้งที่เขาไปพูดที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เมื่อปี พ.ศ.2552 ว่า "ทราบมาว่าบางครั้งคุณใช้เวลาเพียงห้านาทีในการตัดสินใจเรื่องสำคัญ คุณทำได้อย่างไร?"
บัฟเฟตต์ตอบว่า "ผมใช้เวลาห้านาทีในการตัดสินใจ แต่ห้าสิบปีในการเตรียมตัว" มืออาชีพไม่ต้องใช้เวลานานมากในการตัดสินใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งแต่ใช้เวลาสำหรับสิ่งที่เป็นประโยชน์ในภาพรวม
ผู้บริหารคนหนึ่งบอกผมว่า "ผมแทบไม่มีเวลาทำงานเลย เพราะมัวแต่ประชุม" นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับองค์กรจำนวนมาก พนักงานและผู้บริหารบริษัทผ่านวันทั้งวันในห้องประชุม วันหนึ่งประชุมกันสามสี่ครั้ง แต่ละครั้งยาวสองสามชั่วโมง จนน่าสงสัยว่าจะเหลือเวลาที่ไหนไปทำงาน
การประชุมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิถีธุรกิจ ยังมีภาคการลงมือทำงาน การดูแลให้งานเป็นไปตามแผน ฯลฯ คิดตามตรรกะง่าย ๆ ก็คือ หากใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการประชุม ก็ไม่เหลือเวลาลงมือปฏิบัติการจริง ๆ "เวลาไม่พอ" จึงเป็นวลีที่ที่เราได้ยินบ่อยที่สุดโลกนี้อาจมีหลายเรื่องที่ไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง แต่มีเรื่องหนึ่งที่ทุกคนเสมอภาคกัน คือเวลา ธรรมชาติให้เวลาเราทุกคน 24 ชั่วโมงต่อวันเท่าเทียมกัน ตั้งแต่เกิดจนตาย ทว่า ไม่ทุกคนใช้มันอย่างเท่าเทียมกัน
เวลาก็เปรียบเหมือนคูปองซื้อสินค้าที่คนได้รับต้องใช้ให้หมดในหนึ่งวัน บางคนใช้ซื้ออาหารขยะ บางคนก็กินของดี บางคนซื้อของเล่น บางคนก็ทำมันหาย สำหรับคนหนุ่มสาวที่ชอบผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย เพราะคิดว่าชีวิตยังมีเวลาเหลือเฟือ ไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะมีวันพรุ่งนี้หรือไม่
ข่าวดีคือ หากบริหารเวลาเป็น คุณจะไม่ต้องเสียเวลาเปล่าเลยสักนาทีเดียวในชีวิต ทุกวินาทีในชีวิตของคุณจะใช้อย่างเหมาะสม การจัดการเวลาไม่ใช่เรื่องซับซ้อนยากเย็น สิ่งแรกคือต้องรักเวลาที่มี เมื่อรักเวลาที่มี ก็จะไม่เสียมันไปกับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง ไม่ฆ่าเวลา ไม่ใช้เวลาไปกับเรื่องที่ไม่เกิดประโยชน์ ขณะเดินทางก็สามารถทำงานได้ คิดงาน หรือจะใช้เป็นเวลาหลับสักงีบก็ได้
เมื่อมีนัดก็ไปก่อนเวลานัดหมายสักครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง แล้วใช้เวลาที่ไปก่อนนั้นทำงาน เวลาที่ไปก่อนนัดหมายจึงไม่ใช่เวลารอคอยอีกต่อไป แต่เป็นอีกรูปหนึ่งของเวลาทำงาน ด้วยวิธีนี้ และยังได้เครดิตว่าเป็นคนที่ตรงต่อเวลาด้วย เวลาก็เหมือนพลังงานน้ำมัน การรู้จักผ่อน-เหยียบคันเร่งถูกจังหวะ น้ำมันลิตรเท่ากันก็อาจขับเคลื่อนรถยนต์ไปได้ไกลกว่า และนี่ก็คือการใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า
บทความโดย : คุณวิโรจน์ เย็นสวัสดิ์ | Facebook
ที่มา : วินทร์ เลียววาริณ